วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แง่คิดบางประการในการใช้การเปลี่ยนถ่ายสินค้าแบบ Cross dockinging

โดยสรวิศ รัตนพิไชย
บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

อุปสรรคในการนำ Cross dockinging มาใช้กับธุรกิจค้าปลีก

ธุรกิจร้านค้าปลีกมีรูปแบบสภาพแวดล้อมทางธุรกิจร้านค้าปลีก(Retail) ที่ทำให้ไม่เหมาะแก่การใช้วิธี Cross docking ดังนี้

1. การมีปริมาณความต้องการสินค้าของร้านค้าปลีก(Retail) แต่ละรายที่ไม่มากพอ ทำให้ต้องมีการขนส่งสินค้าจากผู้ส่งมอบสินค้า (Supplier) ให้กับร้านค้าปลีกบ่อยครั้งขึ้น ดังนั้นการขนส่งสินค้าจึงมักเป็นแบบไม่เต็มคันรถ (LTL: Less than truckload) ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้า (Transportation Cost) เพิ่มขึ้น ซึ่งหากยังคงต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน (Competitive advantage) กับคู่แข่งขันทางธุรกิจรายอื่นแล้วก็จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นนี้โดยยังคงราคาขายสินค้าต่อไป ดังนั้นหากส่วนต่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของค่าขนส่งที่บ่อยครั้งขึ้นนี้มีมูลค่ามากกว่าต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลัง(Inventory holding cost) แล้ว ก็ควรจะพิจารณาถือครองสินค้าคงคลังมากกว่าที่จะใช้วิธี Cross docking

2. การที่ความต้องการสินค้าของลูกค้ามีความแปรปรวนสูง หรือการที่ลูกค้าส่งคำสั่งซื้อสินค้าในปริมาณที่ไม่แน่นอน และสั่งซื้อโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อน จึงทำให้ไม่สามารถจัดเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับสินค้าขาเข้า ที่จะใช้วิธี Cross docking ให้เหมาะสมตามจำนวน วัน และเวลาที่สินค้าจะมาถึงได้

3. การที่สินค้ามีลักษณะการเคลื่อนย้ายและการขนถ่ายจากรถบรรทุกสินข้าขาเข้า(Inbound truck) ไปยังรถบรรทุกสินค้าขาออก (Outbound truck) ที่ไม่สะดวก เช่นเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก โดยเฉพาะเป็นสินค้าที่ไม่สามารถวางไว้บนพาเลทได้ ก็จะยิ่งเป็นปัญหาต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าโดยใช้วิธี Cross docking เป็นอย่างมากด้วย

4. การขาดระบบการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้ผลิตสินค้า ผู้ส่งมอบสินค้า และร้านค้าปลีกในห่วงโซ่อุปทาน(Supply chain) โดยเฉพาะการขาดระบบสารสนเทศในการเชื่อมโยงข้อมูลการสั่งซื้อและการจัดส่งสินค้าที่มีความถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาดอันเกิดจากการจัดทำเอกสาร เช่นการจัดส่งใบสั่งซื้อด้วยเครื่องโทรสาร อาจทำให้ข้อความรายการหรือจำนวนไม่ชัดเจน ผู้ผลิตสินค้าจึงอาจผลิตสินค้าและจัดส่งให้ไม่ตรงตามความต้องการของลูกค้าซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าขึ้นได้

5. การที่ไม่มีความไว้วางใจกันระหว่างผู้ส่งมอบสินค้า(Supplier) กับร้านค้าปลีก เนื่องจากในการใช้วิธี Cross docking นั้น การเคลื่อนย้ายสินค้าจากรถบรรทุกขาเข้าไปยังรถบรรทุกขาออกจะต้องทำอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบคุณภาพของสินค้าหรือแม้แต่การตรวจนับจำนวนว่าสินค้ามีคุณภาพและจำนวนตามที่สั่งหรอไม่ ดังนั้นการที่จะใช้วิธี Cross docking ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ส่งสินค้ากับผู้รับสินค้าจะต้องมีความไว้ใจซึ่งกันและกันจึงจะสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาความผิดพลาดจากการตรวจนับจำนวน และรายการสินค้าเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นระหว่างผู้ส่งสินค้ากับผู้รับสินค้านั่นคือการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับการตรวจนับจำนวน เช่นการใช้ระบบซอฟท์แวร์ตรวจสอบรายการจัดส่ง จำนวน สถานที่ปลายทางการจัดส่ง โดยใช้งานร่วมกับบาร์โค้ด หรือ RFID เป็นต้น หากขาดสิ่งเหล่านี้ ก็อาจทำให้การดำเนินงานด้วยวิธี Cross docking ดำเนินไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรืออาจเกิดข้อความผิดพลาดมากด้วย

การใช้การเปลี่ยนถ่ายสินค้าแบบ Cross docking กับธุรกิจไฮเปอร์มาร์ท หรือซูเปอร์เซ็นเตอร์ กับร้านค้าสะดวกซื้อ

ในปัจจุบันรูปแบบร้านค้าปลีก(Retail) ที่มีอยู่ในประเทศไทยสามารถ แบ่งประเภทได้ เป็นห้างสรรพสินค้า (Department store) ซูเปอร์มาร์เก็ต(Supermarket) ร้านสะดวกซื้อ(Convenience store) ดิสเคาท์สโตร์(Discount Store) หรือบางครั้งเรียกว่าไฮเปอร์มาร์ท(Hypermart) หรือซูเปอร์เซ็นเตอร์(Supercenter) ร้านค้าสินค้าเฉพาะอย่าง(Special Store) และ แคธิกอรี่คิลเลอร์(Category Killer) เทสโก้ โลตัส บิ๊ก ซี และคาร์ฟูร์ นั้น จัดว่าเป็นร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่(Discount Store หรือ Hypermart หรือ Supercenter) เป็นร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความหลากหลายและจำนวนมาก คุณภาพสินค้า มีตั้งแต่คุณภาพดีจนถึงคุณภาพปานกลาง และราคาจำหน่ายอยู่ระดับต่ำกว่าราคาทั่วไป ลูกค้าเป้าหมายคือ ผู้บริโภค (End User) เป็นกลุ่มคนระดับกลางลงมา โดยลูกค้าบริการตนเอง สินค้าส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 เป็นสินค้าประเภทอาหาร ส่วนที่เหลือเป็นสินค้าทั่วไปที่ไม่ใช่อาหาร มีการบริหารจัดการในการควบคุมสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการให้ต้นทุนต่ำ เพื่อจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด มีหลายขนาดพื้นที่ โดยทั่วไปมีพื้นที่ประมาณ 10,000-20,000 ตารางเมตร

ส่วน เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท เฟรชมาร์ท และ AM/PM นั้น จัดเป็นร้านค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อ (Convenience store) จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน บริการตนเอง เปิดจำหน่าย 24 ชั่วโมง ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน และบริเวณที่มีผู้สัญจรไปมามาก การตั้งราคาสินค้าสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป กลุ่มเป้าหมายคือผู้บริโภค (End User) ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 16-300 ตารางเมตร

จากที่กล่าวมาถึงร้านค้าปลีกทั้งสองประเภทข้างต้น ความแตกต่างทางกายภาพระหว่าง ไฮเปอร์มาร์ท หรือซูเปอร์เซ็นเตอร์ กับร้านค้าสะดวกซื้อ สรุปได้ดังนี้

มุมมอง ไฮเปอร์มาร์ท หรือซูเปอร์เซ็นเตอร์ ร้านสะดวกซื้อ

1. ทำเลที่ตั้ง: ตั้งอยู่บริเวณชานเมือง
2. จำนวนสาขา: มีจำนวนสาขาไม่มากในแต่ละพื้นที่(หรือจังหวัด) ยกเว้นในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานครฯ
3. ขนาดของร้านค้าปลีก: มีขนาดใหญ่ และมักมีสถานที่จอดรถของลูกค้ากว้างขวาง 
4. ประเภทสินค้าที่จำหน่าย: สินค้าอุปโภคบริโภค และเครื่องใช้ทั่วไปในครัวเรือน รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า
5. ปริมาณการขายสินค้า: มีปริมาณการขายสินค้ามากในแต่ละวัน และอัตราการขายสินค้าจะเพิ่มมากในช่วงต้นเดือน และกลางเดือน
6. กลุ่มลูกค้า: มักเป็นลูกค้าประจำ และซื้อสินค้าครั้งละมากๆ
7. ความถี่ในจัดการซื้อ: มีแผนการมาซื้อสินค้าค่อนข้างแน่นอน เช่น มาซื้อทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์ หรือทุกเดือน
8. การเติมเต็มสินค้า: สั่งสินค้ามาเติมเต็มคราวละมากๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และมี Service Level ที่สูง

มุมมอง ร้านสะดวกซื้อ

1. ทำเลที่ตั้ง: ใกล้ย่านที่อยู่อาศัย หรือสำนักงาน
2. จำนวนสาขา: มีจำนวนสาขามาก กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในแต่ละเขต หรือจังหวัด
3. ขนาดของร้านค้าปลีก: มีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นอาคารชุด 1-2 ห้อง ไม่มีที่จอดรถสำหรับลูกค้า
4. ประเภทสินค้าที่จำหน่าย: สินค้าอุปโภค และอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด และเครื่องดื่ม
5. ปริมาณการขายสินค้า: มีปริมาณการขายไม่มากเท่ากับไฮเปอร์มาร์ท หรือซูเปอร์เซ็นเตอร์ และมีอัตราการขายเฉลี่ยต่อวันค่อนข้างคงที่
6. กลุ่มลูกค้า: มีทั้งลูกค้าประจำในกรณีที่ร้านค้าอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัย หรือใกล้ที่ทำงาน และลูกค้าขาจร ที่ต้องการซื้อสินค้าในจำนวนไม่มาก
7. ความถี่ในจัดการซื้อ: ไม่มีแผนการซื้อที่แน่นอนขึ้นอยู่ว่าต้องการใช้สินค้าเมื่อไหร่
8. การเติมเต็มสินค้า: สั่งสินค้ามาเติมเต็มครั้งละไม่มาก โดยจะสั่งให้เพียงพอกับการขายในระยะสั้น อันเนื่องจากพื้นที่วางสินค้าที่ค่อนข้างน้อย จึงทำให้ Service Level ต่ำกว่าไฮเปอร์มาร์ท

ดังนั้นจากความแตกต่างทางกายภาพข้างต้น การที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) จะต้องจัดส่งสินค้าให้กับร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์ท หรือซูเปอร์เซ็นเตอร์ กับร้านค้าสะดวกซื้อโดยใช้วิธี Cross docking จึงย่อมมีลักษณะที่แตกต่างกันด้วย โดย

1. SME จะจัดทำการบรรจุสินค้าล่วงหน้า (Prepackage) ในปริมาณที่ลูกค้าต้องการสั่งซื้อ ซึ่งโดยปกติแล้ว ไฮเปอร์มาร์ท หรือซูเปอร์เซ็นเตอร์ จะสั่งซื้อสินค้าแต่ละรายการในจำนวนที่มากกว่าร้านสะดวกซื้อ ดังนั้นการจัดส่งสินค้าของ SME โดยใช้วิธี Cross docking ให้กับไฮเปอร์มาร์ทสาขาต่างๆ จึงมักเป็นแพ็คเกจใหญ่ๆ หรือเป็นแบบเต็มพาเลท แต่สำหรับการจัดส่งสินค้าไปยังร้านค้าสะดวกซื้อนั้น มักจะส่งไปเป็นแพ็คเกจที่เล็กกว่า หรือจัดส่งแบบเป็นกล่องหรือลังแทนการจัดส่งเป็นพาเลท

2. การรับสินค้า(Receiving) ที่ SME จัดส่งให้กับ ไฮเปอร์มาร์ท ด้วยวิธี Cross docking นั้น จะสามารถทำการรับสินค้าได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสินค้าที่ SME จัดส่งให้กับร้านค้าสะดวกซื้อ เนื่องจากลักษณะของแพ็คเกจตามข้อ 1 ซึ่ง ไฮเปอร์มาร์ท มักจะสั่งสินค้าคราวละมากๆ และเป็นแบบเต็มพาเลทจึงทำให้การตรวจสอบจำนวนสินค้าแบบเต็มพาเลท สามารถตรวจนับจำนวนได้ง่ายและสะดวกกว่าสินค้าที่ถูกแพ็คมาแบบเป็นกล่องหรือลัง ซึ่งในบางครั้งก็ยังมีการจัดส่งสินค้ามาแบบไม่เต็มกล่องหรือลังมาอีกด้วย

3. การคัดแยกสินค้าที่จะจัดส่งไปยังไฮเปอร์มาร์ท สามารถทำได้ง่ายกว่าสินค้าที่จัดส่งไปยังร้านค้าสะดวกซื้อ เนื่องจากปลายทางการจัดส่งของไฮเปอร์มาร์ทซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าร้านค้าสะดวกซื้อ(สาขาของร้านค้าสะดวกซื้อมีจำนวนมากกว่าไฮเปอร์มาร์ท) นอกจากนี้แล้วการที่ปลายทางการจัดส่งสินค้าไปยังร้านค้าสะดวกซื้อมีจำนวนมาก และแต่ละปลายทาง(สาขา)ยังมีความแตกต่างของรายการสินค้าที่สั่ง และปริมาณในแต่ละรายการ จึงทำให้มีความยุ่งยากซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการคัดแยกสินค้าก่อนขนถ่ายขึ้นรถบรรทุกขาออก(Outbound Truck) มากกว่าการคัดแยกสินค้าที่จะจัดส่งไปยังไฮเปอร์มาร์ทด้วย

4. การจัดส่งสินค้าไปยังร้านค้าสะดวกซื้อ อาจต้องใช้จำนวนรถบรรทุกขาออกที่มากกว่าการจัดส่งสินค้าไปยังไฮเปอร์มาร์ท เนื่องจากร้านค้าสะดวกซื้อมีจำนวนสาขาที่มากกว่าไฮเปอร์มาร์ท นอกจากนี้รถบรรทุกขาออกที่จะใช้ขนสินค้าไปยังร้านค้าสะดวกซื้อ อาจมีขนาดเล็กกว่ารถที่จะขนสินค้าไปไฮเปอร์มาร์ท เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการจัดส่งในพื้นที่ชุมชน ซึ่งไม่มีสถานที่ขนถ่ายสินค้ามากนัก

จริงหรือที่การใช้ Cross docking เป็นการผลักภาระสินค้าคงคลังไปให้ซัพพลายเออร์

ในการขนถ่ายสินค้าด้วยวิธี Cross docking หากดำเนินการได้อย่างเหมาะสมแล้วจะสามารถทำให้บริษัทลดมูลค่าการถือครองสินค้าคงคลัง (Inventory holding cost) และต้นทุนค่าขนส่งสินค้า (Transportation cost) ณ ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center; DC) ลงได้ เมื่อพิจารณาอย่างผิวเผินก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการผลักภาระสินค้าคงคลัง (Inventory) และการจัดการด้านการขนส่งเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดูเหมือนจะเป็นการผลักภาระไปยัง Supplier โดยที่ Supplier จะต้องมีการสต๊อคสินค้าไว้เพื่อตอบสนองการสั่งซื้อสินค้าของ Retailer ที่มีรูปแบบความต้องการของลูกค้าที่แปรปรวนไม่แน่นอน ซึ่งอาจต้องมีความถี่ในการจัดส่งสินค้าบ่อยด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ Supplier อาจมี Inventory holding cost และ Transportation cost ที่สูงขึ้นจึงและอาจเป็นชนวนนำไปสู่ข้อโต้แย้งหรือข้อคัดค้านในการดำเนินการขนถ่ายสินค้าด้วยวิธี Cross docking ได้ แต่ถ้าพิจารณาถึงหลักการขนถ่ายด้วยวิธี Cross docking แล้ว Supplier ก็จะได้รับประโยชน์ในการใช้วิธีนี้ด้วยเช่นกัน คือ

1) ในกรณีที่ Supplier มีนโยบายการผลิตแบบผลิตตามคำสั่งซื้อ (Make to Order) เมื่อ Retailer แจ้งข้อมูลปริมาณสินค้าที่ต้องการสั่งซื้อ และจุดหมายของการจัดส่งสินค้าสินค้าให้ Supplier ทราบล่วงหน้าก่อนการจัดส่งสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center; DC) นั่นก็หมายความว่า Supplier สามารถวางแผนการผลิตสินค้าได้อย่างแม่นยำ และผลิตสินค้าได้ตรงตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการอย่างใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ทำให้สามารถลดการจัดเก็บสินค้าคงคลังจากการที่ผลิตสินค้าเกินความต้องการได้ ซึ่งต้นทุนการจัดเก็บสินค้าคงคลังของ Supplier ก็จะลดลงด้วย นอกจากนี้ การที่ Supplier ทราบปลายทางการจัดส่งสินค้าก่อนล่วงหน้ายังทำให้ Supplier แต่ละรายสามารถวางแผนการจัดส่งไปยัง DC ให้เต็มคันรถบรรทุกได้ นับเป็นการลดต้นทุนการจัดส่งลงได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้การผลิตแบบ Make to Order นั้น จะมี Lead time ในการจัดส่งสินค้าของ Supplier ไปยัง DC นานกว่าการที่ Supplier มีสต๊อคสินค้าไว้แล้ว โดย Lead time ที่นานกว่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากเวลาที่ใช้ในการผลิตสินค้าซึ่ง Lead time ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจได้รับการชดเชยจากเวลาที่ลดลงไป ณ DC เมื่อใช้การขนถ่ายแบบ Cross docking ได้

2) กรณีที่ Supplier มีนโยบายการผลิตแบบผลิตเพื่อจัดเก็บ (Make to Stock) หรือทำการผลิตสินค้าล่วงหน้าก่อนได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้า ซึ่งจะทำให้ Supplier สามารถจัดส่งสินค้าไปยัง DC ได้ทันที และเมื่อใช้การขนถ่ายสินค้าแบบ Cross docking ที่ไม่ต้องผ่านกิจกรรมภายในคลังสินค้า โดยจะขนถ่ายไปยังรถบรรทุกขาออกเลยทันที ก็ยิ่งจะทำให้สินค้าไปถึงมือลูกค้าได้เร็วยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงรอบระยะเวลาในการได้รับเงินค่าสินค้า (Cash to cash cycle time) ของ Supplier ก็ยิ่งเร็วขึ้นด้วย

นอกจากนี้ Lead Time โดยรวมของห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ (Up-Stream) ไปถึงปลายน้ำ (Down-Stream) ที่ลดลง เนื่องมาจากใช้วิธีการขนถ่ายแบบ Cross docking โดยการตัดกิจกรรมบางอย่างภายในคลังสินค้าออกไป เช่น การจัดเข้าที่ (Put away) การเก็บรักษา (Storage) และการหยิบสินค้าตามรายการ (Order picking) และจาก Lead time ที่สั้นลงนี้ Supplier อาจพิจารณาลดจำนวนสินค้าคงคลังหรือลดสินค้าสำรองคลังระดับปลอดภัย (Safety Stock) ลงอีกได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลังได้อีกด้วย

การทำ Pre-distribution

ข้อดีของการทำ Pre-distribution

เนื่องจากผู้ซื้อสินค้าที่เป็น Retail จะเป็นผู้กำหนดให้ Supplier ต้องมีการทำ Pre-distribution ก่อนการจัดส่งสินค้าด้วยวิธี Cross docking ซึ่งการดำเนินการ pre-distribution ได้แก่การดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การติดป้ายแสดงราคาของสินค้าแต่ละรายการ การติดบาร์โค้ด หรือการติดป้ายรายละเอียดสินค้าบนพาเลต เพื่อให้พนักงานสามารถขนถ่ายสินค้าไปยังรถขนส่งสินค้าขาออกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้นการดำเนินการ Pre-distribution นั้นจะก่อให้เกิดผลดีต่อ Retailer ดังนี้

• ลดต้นทุนดำเนินการ (Operating cost) และการจ้างพนักงานของ Retailer ลง เนื่องจาก Retailer ไม่ต้องกิจกรรมต่างๆ เอง เช่น การติดป้ายแสดงราคาของสินค้าแต่ละรายการ การติดบาร์โค้ด หรือการติดป้ายรายละเอียดสินค้าบนพาเลต ฯลฯ

• ลดเวลานำ(Lead time) ในการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า เนื่องจาก เมื่อ Supplier ทำการจัดส่งสินค้ามายัง DC สินค้าก็จะถูกจัดส่งไปยังรถบรรทุกขาออกทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาในการผ่านกิจกรรม Pre-distribution (เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า) ณ DC เช่น การติดป้ายแสดงราคาของสินค้าแต่ละรายการ การติดบาร์โค้ด หรือการติดป้ายรายละเอียดสินค้าบนพาเลต ฯลฯ นอกจากนี้ยังลดเวลาในการบรรจุหีบห่อใหม่อีกครั้ง (Re-package) จากการดำเนินการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่ DC ได้อีกด้วย

• ทำให้ขั้นตอนการรับสินค้า(Receiving) ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเพราะสามารถตรวจสอบได้จากป้ายแสดงรายละเอียดต่างๆ หรือบาร์โค้ดได้อย่างรวดเร็ว

ประเด็นที่ Supplier(Vendor) อาจมีข้อโต้แย้งจากการดำเนินการ Pre-distribution

จากที่กล่าวมาแล้วถึงข้อดีที่ Retailer จะได้รับจากการดำเนินการ Pre-distribution ก็ทำให้ Supplier อาจคิดว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับตนเองได้ ส่งผลให้เกิดข้อโต้แย้ง หรือการขาดความร่วมมือในการดำเนินการดังกล่าวได้ ประเด็นข้อโต้แย้งเกิดจากการที่ Supplier ต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการรับทราบประเภทและจำนวนของสินค้าที่ถูกต้องแน่นอนก่อนจะถูกจัดส่งไปให้กับลูกค้าที่ปลายทาง เพื่อทำการติดป้ายแสดงรายละเอียดของสินค้า หรือดำเนินกิจกรรมเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าก่อนถูกจัดส่ง นอกจากนี้ Supplier ยังต้องคำนึงถึงการลงทุนมูลค่าสูงที่จะเกิดขึ้นในการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ และระบบการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย รวมถึงการจ้างพนักงานที่มีทักษะสูงเพิ่มเพื่อรองรับการการดำเนินการ Pre-distribution ด้วย

การเจรจากับ Supplier ให้ดำเนินการ Pre-distribution

จากประเด็นข้อโต้แย้งของ Supplier ทำให้ Retailer ควรหาวิธีการเจรจาเพื่อให้ Supplier เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน และควรมีการทำข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่ายเพื่อทำให้ Supplier ไม่เกิดความรู้สึกเสียเปรียบแต่อย่างใด และทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าหากดำเนินการ Pre-distribution แล้ว จะได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย (win-win) ซึ่งอาจกล่าวให้เห็นถึงประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น

- Retailer ควรยอมให้ Supplier เสนอราคาสินค้าสูงกว่าที่ไม่มีการดำเนินการ Pre-distribution ในเกณฑ์ที่ Retailer ยอมรับได้ โดยราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ต้องเหมาะสมกับการลงทุนเพิ่มในการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ ระบบ software ที่เกี่ยวข้องต่างๆ และการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น ซึ่งการยอมให้ Supplier เพิ่มราคาสินค้านั้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นของราคาอาจมีมูลค่าน้อยกว่า Operating cost ที่ Retailer ต้องดำเนินการเองก็ได้ นอกจากนี้แล้วการลงทุนของ Supplier ยังเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่สามารถนำระบบ pre-distribution นี้ไปใช้กับลูกค้ารายอื่นๆ ได้อีกด้วย นอกจากเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้าและการบริการของ Supplier แล้ว ยังเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์ (Utilization) จากอุปกรณ์ เครื่องมือ และระบบที่เกี่ยวข้องต่างๆ และทำให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้นด้วย

- Retailer อาจยื่นข้อเสนอให้มีการทำสัญญาซื้อขายระยะยาว เช่นทำสัญญาซื้อสินค้าในช่วงเวลา 1 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ Supplier ว่า หากมีการลงทุนเพิ่มในด้านต่างๆ สำหรับการทำ Pre-distribution แล้ว Supplier จะได้รับคำสั่งซื้อจาก Retailer อย่างต่อเนื่องในระยะหนึ่ง จนกระทั่งถึงจุดคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป

ที่มา http://www.logisticscorner.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น