โดยนายบางมด
ในตัวแบบการจัดการสินค้าคงคลังโดยทั่วไปนั้น มักจะสนใจแต่ในเรื่องของแผนการตัดสินใจผลิต (Operational Decision) และการควบคุมสินค้าคงคลัง(Inventory Control) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่แนวคิดหรือหลักการเพื่อช่วยในการบริหารจัดการสินค้าคงคลังและเป็นที่รู้จักกันอย่างอย่างกว้างขว้างหลายเรื่องเช่น ตัวแบบสินค้าคงคลังสำหรับการสั่งซื้อที่ประหยัด (EOQ; Economic Order Quantity) และตัวแบบ newsvendor เป็นต้น โดยตัวแบบส่วนใหญ่ที่กล่าวมานั้นจะสมมติให้บริษัทผู้ผลิตสามารถวางแผนการตัดสินใจผลิตอย่างอิสระและมีความเหมาะสมที่สุดได้ตามข้อมูลความต้องการผลิตซึ่งรับมาจากปริมาณการสั่งสินค้าของลูกค้า รวมทั้งไม่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณสำหรับการตัดสินใจจัดซื้อสินค้ามาเก็บคงคลังเพื่อรองรับการผลิตด้วย
สำหรับสถานการณ์จริง โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่งเริ่มกิจการใหม่นั้น บ่อยครั้งที่บริษัทประสบกับภาวะขาดแคลนเงินทุนในดำเนินการทำให้การตัดสินใจจัดซื้อสินค้ามาเก็บคงคลังเพื่อรองรับการผลิตถูกจำกัดโดยเงินทุนเหล่านั้นไปด้วย นอกจากนี้ บริษัททั้งขนาดเล็ก และขนาดกลางที่ธุรกิจประสบกับความล้มเหลวหรือล้มละลายก็มีสาเหตุด้านการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นจากการขาดสภาพคล่องเงินสดหมุนเวียน(Cash Flow) เป็นต้น ดังนั้นจึงมีแนวคิดใหม่เกี่ยวกับตัวแบบของการจัดการสินค้าคงคลังที่คำนึงถึงปัจจัยด้านการเงินเพื่อใช้ในการตัดสินใจวางแผนการผลิตออกมา ซึ่งแนวคิดนี้แบ่งเป็นกรณีหลักได้คือ ตัวแบบการจัดการสินค้าคงคลังภายใต้ข้อจำกัดด้านการเงินแบบที่ไม่มีการให้กู้ และให้ยืมเงินลงทุน และแบบที่มีการให้กู้ และให้ยืมเงินลงทุน รวมถึงแบบที่มีการจำกัดวงเงินให้กู้ยืมด้วย
ตัวแบบการจัดการสินค้าคงคลังภายใต้ข้อจำกัดด้านเงินลงทุน
บริษัทผู้ผลิตที่อยู่ในภาวะขาดแคลนเงินลงทุนจะทำการจัดการสินค้าคงคลังโดยการสั่งซื้อสินค้ามาคงคลังเสำหรับรองรับการผลิตในแต่ละช่วงจำนวนไม่มากนัก ซึ่งก็จะส่งผลให้บริษัทผลิตสินค้าได้น้อยลงและทำกำไรจากการผลิตสินค้าได้น้อยลงด้วยเช่นกัน
บริษัทผู้ผลิตที่มีสินทรัพย์โดยรวม(เงินทุนรวมกับมูลค่าสินค้าคงคลัง)ต่ำ มักจะมีเงินทุนที่ไม่เพียงพอกับการดำเนินการ ดังนั้นการจัดสรรเงินเพื่อนำไปใช้ทางด้านบริหารจัดการสินค้าคงคลังจึงทำได้น้อย ซึ่งก็ทำให้การบริหารจัดการสินค้าไม่สามารถทำได้อย่างดีและเหมาะสมที่สุด และถ้าหากบริษัทมีเงินทุนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยปริมาณการสั่งซื้อสินค้ามาคงคลังเพื่อการผลิตก็จะเพิ่มขึ้นทันที เนื่องจากบริษัทยังมีความต้องการสินค้าคงคลังสำหรับรองรับการผลิตอยู่อีก สำหรับผู้ผลิตที่มีสินทรัพย์โดยรวมของบริษัทสูง ก็จะทำให้มีเงินทุนหรือมีสินค้าคงคลังที่เพียงพอกับการดำเนินการ สามารถที่จะทำการจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างดีและเหมาะสมที่สุด แต่เมื่อบริษัทมีสินค้าคงคลังในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการแล้ว ก็จะลดปริมาณการสั่งซื้อสินค้าคงคลังเพื่อลดการใช้เงินลงทุน ลงอีกด้วย
ตัวแบบการจัดการสินค้าคงคลังภายใต้การตัดสินใจทางการเงิน
เมื่อบริษัทผู้ผลิตขาดเงินลงทุนในการดำเนินการ บริษัทอาจทำการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดังนั้นการจัดการสินค้าคงคลังจะไม่ได้พิจารณาปริมาณการสั่งซื้อสินค้าคงคลังเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่จะพิจารณาด้านการเงินร่วมกับการตัดสินใจวางแผนการผลิตเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ของบริษัทสูงที่สุดด้วย สำหรับการกู้ยืมเงินทุนจากธนาคาร บริษัทผู้ผลิตควรกระทำก็ต่อเมื่อได้ใช้เงินทุนของบริษัทก่อนที่จะตัดสินใจกู้ยืมเงินทุนจากธนาคาร
การตัดสินใจทางด้านการเงินแบ่งได้ 2 กรณีดังนี้
กรณีแรก เป็นการตัดสินใจด้านการเงินกรณีที่ไม่มีข้อจำกัดด้านวงเงินกู้
บริษัทผู้ผลิตที่มีสินทรัพย์โดยรวมต่ำ มักจะมีเงินทุนที่ไม่เพียงพอกับการดำเนินการ และถ้ายังมีหนี้สินอยู่ บริษัทก็มักจะกู้ยืมเงินทุนจากธนาคารเพื่อใช้ในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง แต่การกู้ยืมเงินทุนเพื่อนำมาใช้สั่งซื้อสินค้ามาคงคลังรองรับการผลิตนั้นจะมีจำนวนและปริมาณที่ไม่มากนัก ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีสินทรัพย์โดยรวมเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม สำหรับผู้ผลิตที่มีสินทรัพย์โดยรวมปานกลางก็มักจะมีเงินลงทุนที่เพียงพอกับการดำเนินการอยู่แล้ว บริษัทก็ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน และสำหรับผู้ผลิตที่มีสินทรัพย์โดยรวมสูงจะมีเงินทุนและสินค้าคงคลังที่เพียงพอกับการดำเนินการอยู่แล้ว และยังเหลือเงินทุนบางส่วนด้วย บริษัทก็จะสามารถลดการสั่งซื้อสินค้ามาคงคลังลงได้ นอกจากนี้เงินทุนบางส่วนที่คงเหลือบริษัทยังสามารถฝากเงินเหล่านั้นไว้กับธนาคารเพื่อรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยได้อีกทางหนึ่งด้วย
กรณีที่สอง เป็นการตัดสินใจด้านการเงินกรณีที่มีข้อจำกัดด้านวงเงินกู้
ในสถานการณ์จริงการกู้ยืมเงินลงทุนสำหรับดำเนินการ ธนาคารจะพิจารณาวงเงินให้กู้ยืมจากมูลค่าสินทรัพย์รวมของบริษัทซึ่งมูลค่าสินค้าคงคลังก็เป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าสินทรัพย์รวมของบริษัทด้วย ดังนั้นบริษัทที่มีเงินทุนต่ำแต่มีสินค้าคงคลังเป็นจำนวนมาก ก็สามารถที่จะได้รับวงเงินกู้ในจำนวนเงินมากเพียงพอสำหรับการดำเนินการจากธนาคาร สำหรับบริษัทผู้ผลิตที่มีสินทรัพย์ต่ำก็มักจะขาดเงินทุนหรือสินค้าคงคลังเพื่อรอวรับการผลิตทำให้ต้องการกู้ยิมเงินทุนจากธนาคารในวงเงินที่ต้องการ แต่เนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์ต่ำจึงได้รับวงเงินกู้ที่ต่ำตามไปด้วย ซึ่งจำนวนเงินทุนที่ต่ำนี้จะถูกนำไปใช้กับการจัดการสินค้าคงคลังเพื่อการผลิตทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสมและดีที่สุด
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าการบริการจัดการสินค้าคงคลัง ไม่ได้พิจารณาเพียงแต่ข้อมูลการผลิตหรือปริมาณการสั่งซื้อจากลูกค้าเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆอีก โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเงินและการลงทุนซึ่งมีผลอย่างมากในการตัดสินใจวางแผนการผลิตว่าควรมีสินค้าคงคลังสำหรับรองรับการผลิตจำนวนเท่าใดและควรจะผลิตสินค้าจำนวนเท่าใด เนื่องจาก หากผลิตสินค้าน้อยเกินไปก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสการจำหน่ายสินค้า(Lost sale) ได้ แต่ถ้าผลิตสินค้ามากเกินไปก็อาจทำให้ต้องใช้เงินทุนมากตามไปด้วย และยิ่งถ้าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทไม่ดีด้วยแล้วก็อาจทำให้บริษัทขาดทุนถึงขั้นล้มละลายได้เลยทีเดียว ดังนั้นตัวแบบการจัดการสินค้าคงคลังภายใต้ข้อจำกัดด้านการเงินนี้ จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจประเภทต่างๆได้เป็นอย่างดียิ่ง
ที่มา เว็บไซต์ Logistics Corner วันที่ 23 ก.ค. 2552
http://www.logisticscorner.com/
วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น