ปัจจุบัน ธุรกิจต่างๆมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างมากและนับจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญซึ่งกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ หาหนทางปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ ประเด็นการปรับปรุงด้านโลจิสติกส์หนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือการพิจารณาใช้พื้นที่หรือสถานที่ในกิจกรรมต่างๆ ให้น้อยลง และเกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่แนวคิดในการสร้างคลังสินค้าแบบรวมศูนย์ หรือที่เรียกว่าศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center; DC) และเป็นที่รู้กันดีทั่วไปว่าถ้ามีการรวมสินค้าประเภทต่างๆ เข้าด้วยกันในคลังสินค้าแห่งใดแห่งหนึ่งในแต่ละภูมิภาคจะช่วยลดจำนวนคลังสินค้าให้ลดน้อยลง จากแนวคิดนี้เอง บริษัทต่างๆ จึงเริ่มหันมาปิดคลังสินค้าในแต่ละพื้นที่ลงและรวบรวมสินค้าเข้ามาไว้ในศูนย์กระจายสินค้ากลางซึ่งจะทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ และทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการดูแลและจัดการคลังสินค้าตามจุดต่างๆ หรือลดความเสี่ยงในเรื่องสินค้าล้าสมัย หรือเสีย (หมดอายุ) แต่ทั้งนี้บริษัทก็จำเป็นต้องมีระบบโลจิสติกส์ที่ดีที่จะทำการกระจายสินค้าไปยังลูกค้าได้ทันกำหนดความต้องการใช้ของลูกค้าควบคู่กันไปด้วย
มีตัวอย่างหลายบริษัทที่ได้ใช้แนวคิดนี้แล้วประสบผลสำเร็จในส่วนของการลดมูลค่าสินค้าคงคลัง(Inventory) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น บริษัทฟิลลิปส์สามารถลดจำนวนคลังสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในยุโรปตะวันตกจาก 22 แห่ง ให้เหลือเพียง 4 แห่ง หรือบริษัทแอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนคลังสินค้าภายในประเทศจำนวน 13 แห่งให้กลายเป็นศูนย์กระจายสินค้า (DC) ในภูมิภาค 2 แห่ง นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีก เช่นในธุรกิจอาหารของบ้านเรา เอ็มเค สุกี้ เป็นบริษัทที่มีสาขากระจายทั่วประเทศทั้งหมดกว่า 200 สาขา แต่เดิม เอ็มเค สุกี้มีศูนย์กระจายสินค้าสำหรับกระจายวัตถุดิบอาหารสดและเครื่องปรุงรสสำหรับสุกี้จำนวน 2 แห่ง คือที่โชคชัยสี่ และสุขุมวิท ก่อนที่ปัจจุบันจะมีศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และถนนบางนาตราด กม. 17 และจากการที่ เอ็มเค สุกี้ ได้ตั้งศูนย์กระจายสินค้าขึ้นนี้ทำให้ซัพพลายเออร์ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 82 ราย ไม่ต้องวิ่งรถขนส่งวัตถุดิบและเครื่องปรุงรสไปทุกสาขาของเอ็มเค สุกี้ แต่วิ่งมาที่ศูนย์กระจายสินค้าเพียงแห่งเดียวเพื่อส่งต่อสินค้าไปยังสาขาทำให้ลดจำนวนเที่ยวการวิ่งรถขนส่งวัตถุดิบลงจาก 6,100 เที่ยว เหลือเพียง 282 เที่ยวด้วย
ในการอธิบายข้อดีของแนวคิดการจัดเก็บสินค้ารวมไว้ที่ศูนย์กระจายสินค้านั้น สามารถนำเอาหลักการ “Square root rule” มาใช้อธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทตัวแทนจำหน่ายวัสดุสินค้าก่อสร้างมีคลังสินค้าในเขตปริมณฑลและในต่างจังหวัด 6 แห่ง (สมมติให้บริษัทนี้มีมีมูลค่าสินค้าคงคลังเฉลี่ยแต่ละคลังอยู่ที่ 10,000,000 บาท) จาก Square root rule นั้น จำนวนหรือมูลค่าสินค้าคงคลังเมื่อมีการรวมคลังสินค้าเหลือเพียง 1 แห่งจะเท่ากับ จำนวนหรือมูลค่าสินค้าคงคลังเฉลี่ยในคลังสินค้าแต่ละแห่ง คูณด้วย รากที่ 2 ของจำนวนคลังสินค้า หรือสถานที่จัดเก็บสินค้าคงคลังก่อนการรวมคลังสินค้าเป็นศูนย์กระจายสินค้า
เมื่อคำนวณโดยใช้ Square root rule พบว่ามูลค่าสินค้าคงคลังเมื่อลดจำนวนคลังสินค้าจาก 6 แห่ง เหลือเพียงศูนย์กระจายสินค้าเพียง 1 แห่ง จะมีมูลค่าเท่ากับ 24,494,897.43 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้คลังสินค้า 6 แห่ง จะมีมูลค่าสินค้าคงคลังเฉลี่ยเท่ากับ 60,000,000 บาท จึงเห็นได้ว่าหากมีการยุบจำนวนคลังลง แล้วจัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าเพียงแห่งเดียวก็จะสามารถลดมูลค่าสินค้าคงคลังไปได้ประมาณ 60% เลยทีเดียว นอกจากนี้การยุบคลังสินค้ายังสามารถลดการดูแลพื้นที่การจัดเก็บสินค้าลงได้อีก 83.33% (ค่าการคำนวณนี้อยู่บนสมมติฐานที่ว่า ศูนย์กระจายสินค้ามีพื้นที่เท่าหรือใกล้เคียงกับคลังสินค้าหรือยุบคลังสินค้าเดิมแล้วใช้คลังสินค้านั้นเป็นศูนย์กระจายสินค้า) ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนการจัดการคลังสินค้า(Warehousing cost) เช่า ค่าเช่าคลังสินค้า(กรณีเช่า) ค่าดูแลซ่อมแซมอาคารสถานที่ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ค่าภาษีและการประกันภัย ค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด และพนักงานประจำคลังสินค้า ฯลฯ ลดลงจากมูลค่าสินค้าคงคลังที่ลดลงไปประมาณ 60% และต้นทุนการจัดการคลังสินค้าที่ลดลงไปด้วย ก็น่าที่จะครอบคลุมต้นทุนค่าขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อันเกิดจากระยะทางขนส่งที่ไกลขึ้น ถึงแม้ว่าในบางครั้งบริษัทอาจจำเป็นต้องมีต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากการขนส่งทางอากาศเพื่อส่งมอบสินค้าไปยังลูกค้าได้ทันกำหนดเวลาก็ตาม
ทั้งนี้ ถ้าหากบริษัทมีจำนวนคลังสินค้าไม่มาก เช่นมีเพียง 2 - 3 แห่ง กอปรกับมีมูลค่าสินค้าคงคลังไม่สูงนัก (ไม่เกิน 1,000,000 บาท) ก็อาจไม่คุ้มกับการยุบคลังสินค้าเดิมแล้วจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าขึ้นมาใหม่ เพราะการการลดลงของมูลค่าสินค้าคงคลังและต้นทุนการจัดการคลังสินค้าอาจยังไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นนั้นได้ หรือหากครอบคลุมก็อาจใช้เวลานานมากกว่าจะถึงเวลาคุ้มทุนในการลงทุนจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าใหม่ก็ได้
ที่มา http://www.logisticscorner.com/ แหล่งรวมสาระความรู้และข่าวสารแวดวงโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น